การเรียนรู้พฤติกรรมนิยม


การเรียนรู้พฤติกรรมนิยม

ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมประกอบด้วยทฤษฎีกลุ่มย่อยๆ 3 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (Classical Conditioning) ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning) และทฤษฎีความสัมพันธ์เชื่อมโยง (Conditionism) รายละเอียดของแต่ละทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยม มีดังต่อไปนี้
1. ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (Classical Conditioning Theory of Learning) ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก เป็นแนวคิดของ      พาฟลอฟ นักสรีระวิทยาชาวรัสเซีย ที่มีความเชื่อว่าพฤติกรรมที่เกิดจากการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกได้มักเป็นพฤติกรรม หรือการตอบสนองที่เกิดจากปฏิกิริยาสะท้อนอันมีพื้นฐานมาจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น การเห็นมะม่วงแล้วเกิดมีการหลั่งของน้ำลาย การทำงานของต่อมต่างๆ ในร่างกาย การทำงานของระบบกล้ามเนื้อต่างๆ พฤติกรรมการตอบสนองในการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเหล่านี้เรียกว่า พฤติกรรมตอบสนอง หรือพฤติกรรมที่เป็นไปโดยไม่ตั้งใจ พาฟลอฟ เชื่อว่าการเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากเกิดจากการวางเงื่อนไข กล่าวคือการตอบสนองหรือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นต่อสิ่งเร้าหนึ่งมักมีเงื่อนไขหรือสถานการณ์เกิดขึ้น ซึ่งในสภาพปกติหรือในชีวิตประจำวันการตอบสนองเช่นนั้นอาจจะไม่มี เช่น กรณีสุนัขได้ยินเสียงกระดิ่งและน้ำลายไหล เสียงกระดิ่งเป็นสิ่งเร้าที่ตอบสนองเรียกว่าการตอบสนองที่มีเงื่อนไข (ศศิธร เวียงวะลัย
2556)


การเรียนรู้พฤติกรรมนิยม พาฟลอฟ
1.1 กฎแห่งการลดสภาวะ (Law of Extinction) หมายความว่า ความเข้มข้นของการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจะลดลงเรื่อยๆ ถ้าร่างกายได้รับสิ่งเร้าเพียงอย่างเดียว หรือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าที่ไม่มีการวางเงื่อนไขกับสิ่งเร้าที่มีการวางเงื่อนไขจะห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ
1.2 กฎแห่งการฟื้นคืนธรรมชาติ (Law of Spontaneous Recovery) หมายความว่า พฤติกรรมตอบสนองสิ่งเร้าที่มีการวางเงื่อนไขจะมีความเข้มข้นลดลงถ้าได้รับแต่สิ่งเร้าที่มีการวางเงื่อนไขเพียงอย่างเดียวแต่พฤติกรรมนั้นอาจกลับมาปรากฏอีกครั้งและเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ได้ถ้าร่างกายเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงโดยไม่จำเป็นต้องนำสิ่งเร้าที่ไม่มีการวางเงื่อนไขมาคู่อีก
1.3 กฎการสรุปกฎเกณฑ์โดยทั่วไป (Law of Generalization) หมายความว่าถ้าร่างกายเกิดการเรียนรู้โดยแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มีการวางเงื่อนไขหนึ่งแล้ว ถ้ามีสิ่งเร้าชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกันกับสิ่งเร้าที่การวางเงื่อนไขเดิมสิ่งเร้าใหม่นั้นจะมีประสิทธิภาพทำให้เกิดพฤติกรรมตอบสนองได้เหมือนกันกับสิ่งเร้าที่มีการวางเงื่อนไขเดิม
1.4 กฎการจำแนกความแตกต่าง (Law of Discrimination) หมายความว่า ถ้าร่างกายเกิดการเรียนรู้โดยแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มีการวางเงื่อนไขแล้ว ถ้าสิ่งเร้าอื่นมีคุณสมบัติแตกต่างไปจากสิ่งเร้าที่มีการวางเงื่อนไขเดิม ร่างกายจะเกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นแตกต่างไปด้วย
2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning Theory of Learning) ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำพัฒนาขึ้นโดยสกินเนอร์ ผู้ที่มีแนวความคิดพื้นฐานว่า พฤติกรรมของมนุษย์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเงื่อนไขการเสริมแรงและการลงโทษ ซึ่งตัวเสริมแรงแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ตัวเสริมแรงบวกกับตัวเสริมแรงลบ หรือตัวเสริมแรงปฐมภูมิกับตัวเสริมทุติยภูมิ อธิบายได้ดังนี้
2.1 ตัวเสริมแรงบวก (Positive Reinforcer) หมายถึง สิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่งเมื่อได้รับหรือนำเข้ามาในสถานการณ์นั้นแล้วจะมีผลให้เกิดความพึงพอใจ และทำให้อัตราการตอบสนองเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเข้มข้นขึ้น เช่น อาหาร คำชมเชย ฯลฯ
2.2 ตัวเสริมแรงลบ (Negative Reinforcer) หมายถึง สิ่งเร้าชนิดใด ชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อตัดออกไปจากสถานการณ์นั้นแล้วจะมีผลให้อัตราการตอบสนองเปลี่ยนไปในลักษณะเข้มข้นขึ้น เช่น เสียงดัง แสงสว่างจ้า คำตำหนิ ร้อนหรือเย็นเกินไปฯลฯ
2.3 ตัวเสริมแรงปฐมภูมิ (Primary Reinforcer) เป็นสิ่งเร้าที่จะตอบสนองความต้องการทางอินทรีย์โดยตรงซึ่งเปรียบได้กับ UCS ในทฤษฎีการวางเงื่อนไขของพาฟลอฟ เช่น เมื่อเกิดความต้องการอาหาร อาหารก็จะเป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิที่จะลดความหิวลง เป็นต้น ลำดับขั้นของการลดแรงขับของตัวเสริมแรงปฐมภูมิ ดังนี้
2.3.1 ความไม่สมดุลในอินทรีย์ก่อให้เกิดความต้องการ
2.3.2 ความต้องการจะทำให้เกิดพลังหรือแรงขับ ที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรม
2.3.3 มีพฤติกรรมเพื่อจะมุ่งสู่เป้าหมาย เพื่อให้ความต้องการได้รับการตอบสนอง
2.3.4 ถึงเป้าหมายหรือได้รับสิ่งที่ต้องการสิ่งที่ได้รับที่เป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิ ตัวเสริมแรงที่จะเป็นรางวัลที่จะมีผลทำให้อยากทำซ้ำและมีพฤติกรรมที่เข้มข้นในกิจกรรมซ้ำๆ นั้น
2.4 ตัวเสริมแรงทุติยภูมิ (Secondary Reinforcer)โดยปกติแล้วตัวเสริมแรงประเภทนี้เป็นสิ่งเร้าที่เป็นกลาง (Natural Stimulus) สิ่งเร้าที่เป็นกลางนี้เมื่อนำเข้าคู่กับตัวเสริมแรงปฐมภูมิบ่อยๆ เข้าสิ่งเร้าซึ่งแต่เดิมเป็นกลางก็กลายเป็นตัวเสริมแรงและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับตัวเสริมแรงปฐมภูมิ เราเรียกตัวเสริมแรงชนิดนี้ว่าตัวเสริมแรงทุติยภูมิ เช่น การทดลองของสกินเนอร์โดยปรากฏว่า เมื่อหนูกดคานจะมีแสงสว่างและมีอาหารตกลงมา แสงไฟซึ่งแต่เดิมเป็นสิ่งเร้าที่เป็นกลาง ต่อมาเมื่อนำเข้าคู่กับอาหารบ่อยๆ แสงไฟก็จะกลายเป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิเช่นเดียวกับอาหารแสงไฟจึงเป็นตัวเสริมแรงทุติยภูมิ (เติมศักดิ์ คทวณิช 2546)




ผู้เขียนกล่าวโดยสรุปได้ว่า พัฒนาทางจริยธรรมตามทฤษฎีพฤติกรรมนิยมนั้น มุ่งเน้นให้เห็นถึงพฤติกรรมและปฏิกิริยาต่างๆของมนุษย์เกิดแรงเสริม หรือเกิดการเรียนรู้ทางด้านพฤติกรรมในด้านอื่นๆ พฤติกรรมใดก็ตามที่บุคคลแสดงออกแล้วได้รับผลที่พึงพอใจบุคคลนั้นจะมีพฤติกรรมซ้ำๆอีก เนื่องจากผลของการกระทำเป็นแรงเสริมที่ทำให้เกิดการยอมรับในสังคม ส่วนพฤติกรรมใดที่ไม่พึงประสงค์บุคคลนั้นก็จะมีแนวโน้มที่จะระงับพฤติกรรมน้อยลง ดังนั้น จากแนวคิดพฤติกรรมนิยมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหรือเพิ่มพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ตลอดจนใช้ในการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้

สุรศักดิ์ สีลูกวัด
www.facebook.com/ZaaraaD

อ้างอิง
เติมศักดิ์ คทวณิช. (2546). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
                  ศศิธร เวียงวะลัย. (2556). การจัดการเรียนรู้. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีของแบนดูรา (Bandura) และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม

Transfer of Training การถ่ายโอนการเรียนรู้

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก (Kohlberg)