ทฤษฎีของแบนดูรา (Bandura) และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม



ทฤษฎีของแบนดูรา  (Bandura) และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม

แบนดูรา ได้ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ในสภาพธรรมชาติมากกว่าในห้องทดลอง โดยเน้นที่การเรียนรู้จากการลอกเลียนแบบและผลของพฤติกรรมในอดีตเนื่องจากแบนดูรามีแนวคิดว่าการเรียนรู้ของมนุษย์จะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ 3 ส่วนได้แก่ (1) องค์ประกอบด้านตัวบุคคลซึ่งมีทั้งความคิด ความเชื่อ และความคาดหวังของบุคคล (P) (2) องค์ประกอบด้านพฤติกรรม (B) (3) องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อมหรือบุคคลรอบตัว (E) ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ความสัมพันธ์ระหว่าง (P) บุคคล (B) พฤติกรรม และ (E) สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน (Reciprocal interactions)

                พฤติกรรมการเรียนรู้ของบุคคลมักเกิดจากกระบวนการภายในของตัวบุคคลเองและสภาพแวดล้อมหรือตัวแบบที่เขาจะเลือกเลียนแบบได้แก่
            1. กระบวนการทางปัญญาของบุคคล (Cognitive Process)
           
แบนดูรา อธิบายว่ากระบวนการทางปัญญาในการเรียนรู้ของบุคคลจะประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ
                        1.1
บุคคลมีความสนใจ ใส่ใจ ในตัวแบบ (attention = A)
                        1.2
บุคคลจดจำตัวแบบนั้น (retention = R)
                        1.3
บุคคลแสดงพฤติกรรมตามตัวแบบ (producing behavior = M)
                        1.4
บุคคลเกิดแรงจูงใจที่จะแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำ (motivated to repeat the behavior =M)


ตามหลักการของแบนดูรา บุคคลจะใช้ปัญญาพิจารณาพฤติกรรมของตัวแบบที่เขารู้สึกประทับใจ และคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อตนเอง เมื่อได้ลองปฏิบัติตามพฤติกรรมของตัวแบบแล้วรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือเหมาะสมกับตนเอง ก็จะปฏิบัติตนตามนั้นต่อไปกลายเป็นนิสัยหรือบุคลิกภาพประจำตัว หรือถ้าเขาเห็นตัวแบบใดมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสียหาย เช่น ขับรถเร็วอย่างยิ่ง เป็นต้น
            2. ประเภทของตัวแบบ (Model)
           
แบนดูรา แบ่งตัวแบบออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
                       
2.1 ตัวแบบที่มีชีวิต (live model) หมายถึง ตัวแบบที่เป็นบุคคล เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง ครู เพื่อน คนทั่วไปที่สามารถสัมผัสได้ เป็นต้น
                       
2.2 ตัวแบบสัญลักษณ์ (symbolic model) หมายถึง ตัวแบบจากสิ่งต่างๆ เช่น หนังสือ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
                       
2.3 ตัวแบบที่เป็นคำสั่งสอน (verbal instruction) หมายถึง ตัวแบบที่เป็นการพูดจา อบรม อธิบาย หรือคำสั่งสอน คำอธิบายในหนังสือต่างๆ
ตัวแบบที่น่าเชื่อถือ หรือตัวแบบที่ประสบความสำเร็จในพฤติกรรมนั้นๆ จะเป็นตัวแบบที่มีประสิทธิภาพที่บุคคลต้องการเลียนแบบ และหากเขาเลียนแบบแล้วได้รับผลที่พึงพอใจ พฤติกรรมนั้นจะคงทนอยู่นานขึ้น (อัชรา เอิบสุขสิริ 2556)



ผู้เขียนกล่าวโดยสรุปว่า ทฤษฎีของแบนดูรา จะเน้นที่การเลียนแบบพฤติกรรมทางสังคม จึงให้ความสำคัญกับตัวแบบ ซึ่งพฤติกรรมส่วนใหญ่ในชีวิตของบุคคลมักเกิดจากการเลียนแบบทางสังคม ดังนั้น การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีจึงควรให้ความสำคัญกับตัวแบบด้วย

สุรศักดิ์ สีลูกวัด
www.facebook.com/ZaaraaD

อ้างอิง
อัชรา เอิบสุขสิริ. (2556). จิตวิทยาสำหรับครู. กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Schunk, D.H.,Pintrich,P.R.&Meece, J.L. (2010). Motivation in Education: Theory, Research and Applications. 3rded. New Jersey: Pearson Education.lnc.


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Transfer of Training การถ่ายโอนการเรียนรู้

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก (Kohlberg)