เชาวน์ปัญญาเจริญไปตามช่วงอายุของแต่ละวัย ตามหลักพัฒนาการทางจริยธรรมของเพียเจต์

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ (Piaget) 
จอห์น เพียเจต์ Jean Piaget (ค.ศ.1896 – 1980) ผู้สร้างทฤษฎีพัฒนาการเชาวน์ปัญญา


เพียเจต์ (Piaget) เชื่อว่า พัฒนาการทางจริยธรรมของมนุษย์เป็นไปตามขั้นและขึ้นกับวัย ตลอดจนความฉลาดของบุคคลในการที่จะรับรู้กฎเกณฑ์และลักษณะต่างๆ ของสังคมตามพัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลนั้นโดยขั้นพัฒนาการทางจริยธรรมของเพียเจต์แบ่งออกเป็น 2 ขั้นใหญ่ๆ ดังนี้
1. ขั้น Heteronomous เป็นขั้นที่ยอมรับกฎเกณฑ์จากผู้ที่มีอำนาจเหนือตน เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8  ปี ในขั้นนี้บุคคลยอมรับกฎเกณฑ์จากผู้ที่มีอำนาจเหนือตน เช่น บิดา มารดา ครู และบุคคลอื่นที่มีอำนาจมากกว่าและเชื่อว่ากฎระเบียบเป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ระยะนี้บิดา มารดาและผู้ใหญ่จึงมีอิทธิพลต่อเด็กอย่างชัดเจน เด็กจะนับถือความถูก-ผิด ความดี-ไม่ดี ในลักษณะตายตัว (Fixed rules) ดังนั้น การพิจารณาปัญหาทางจริยธรรมของบุคคลในวัยนี้ จึงยึดเอาผลที่เกิดขึ้นตามมาเป็นหลักพื้นฐานในการพิจารณารับโทษโดยไม่คำนึงถึงแรงจูงใจหรือสาเหตุในการกระทำ
2. ขั้น Autonomous เป็นขั้นการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ เริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป ในขั้นนี้บุคคลจะมองสิ่งต่างๆ อย่างมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นและเชื่อว่ากฎระเบียบต่างๆไม่ใช่สิ่งที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ถ้าทุกคนยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น ในขั้นนี้เป็นระยะที่บุคคลเริ่มพัฒนาจริยธรรมขึ้นสู่ความคิดที่เป็นของตนเอง ใช้เหตุผลโดยคำนึงถึงความยุติธรรมและพิจารณาจากผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำด้วย ซึ่งพัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้จะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับสติปัญญาและอายุของบุคคล ดังนั้น ในการพิจารณาปัญหาทางจริยธรรมของบุคคลในวัยนี้ จึงยึดเอาเจตนาหรือความมุ่งหมายของการกระทำมาเป็นหลักพื้นฐานในการพิจารณาร่วมด้วย
เพียเจต์เชื่อว่า การที่บุคคลจะมีพัฒนาการจากขั้นยอมรับกฎเกณฑ์จากผู้ที่มีอำนาจเหนือตนไปสู่ขั้นการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์นั้น เกิดจากการที่บุคคลได้สัมผัสกับสภาวะรอบตัวที่กว้างขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง การมีบทบาทในกลุ่มเพื่อน กลุ่มคนในสังคมประกอบกับพัฒนาการทางสติปัญญาที่มีมากขึ้นตามวุฒิภาวะ สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้บุคคลสามารถใช้สติปัญญาและประสบการณ์ของตนเองวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ จนในที่สุดก็จะได้ข้อสรุปต่างๆ ที่เป็นหลักการในใจของตนเอง

จากผลการวิจัยของเพียเจต์ ได้สรุปเกี่ยวกับการพัฒนาจริยธรรมได้ว่า พัฒนาการทางจริยธรรมของมนุษย์เป็นไปตามขั้นและขึ้นกับวัย คล้ายคลึงกับพัฒนาการทางเชาว์ปัญญา เป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อมทางสังคม เด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 5-8 ขวบ จะยอมรับมาตรฐาน ทางจริยธรรมหรือกฎเกณฑ์จากผู้มีอำนาจเหนือตน เช่น บิดา มารดา ครู และเด็กที่โตกว่า เด็กจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อเด็กอายุมากขึ้นคือตั้งแต่ 9 ขวบขึ้นไป จะมีความคิดว่ากฎเกณฑ์คือข้อตกลงระหว่างบุคคลและผู้ที่ใช้กฎเกณฑ์จะต้องมีความร่วมมือและนับถือซึ่งกันและกัน และกฎเกณฑ์อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ (สุรางค์ โคว้ตระกูล, 2556)
ผู้เขียนกล่าวโดยสรุปว่า พัฒนาการทางจริยธรรมของเพียเจต์ กล่าวว่า มนุษย์ มีการพัฒนาอย่างเป็นระดับขั้นตามอายุของสติปัญญา และเมื่อมีอายุมากขึ้นมนุษย์จึงเกิดการเรียนรู้ โดยสะสมประสบการณ์มากขึ้น ทำให้เกิดความคิด จิตสำนึก ตามจริยธรรมของสังคมของแต่ละบุคคล ดังนั้น บุคคลจะสามารถมีความคิดทางจริยธรรมตามช่วงอายุ และเมื่อมีอายุมากขึ้นก็จะสามารถควบคุมความประพฤติตามทางจริยธรรมได้ด้วยตนเอง

สุรศักดิ์ สีลูกวัด
https://www.facebook.com/ZaaraaD/

อ้างอิง
            สุรางค์ โค้วตระกูล. (2556). จิตวิทยาการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ:  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีของแบนดูรา (Bandura) และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม

Transfer of Training การถ่ายโอนการเรียนรู้

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก (Kohlberg)