พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ธ ทรงเป็นครูของแผ่นดิน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญกับการศึกษา โดยทรงเน้นให้การศึกษามีบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคนซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าสูงสุดในการพัฒนาประเทศให้เป็นผู้ที่มีความรู้คู่คุณธรรมและสามารถนำหลักวิชาการมาใช้อย่างมีเหตุผลสอดคล้องกับภูมิสังคมและบริบทของประเทศไทย ครูคือหนึ่งในบุคลากรหลักของการศึกษา เป็นแม่พิมพ์แบบอย่างของผู้เรียน ที่จะได้รับการถ่ายทอดทั้งวิชาความรู้ และทักษะชีวิตต่างๆ รวมไปถึงแบบอย่างความประพฤติด้านคุณธรรมจริยธรรมอีกด้วย นอกจากครูจะมีความรู้ที่ดีแล้ว คุณธรรมก็เป็นสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ครูจะต้องมีประจำใจ เพราะไม่เพียงแต่เป็นเครื่องช่วยให้ครูทำงานได้อย่างดีแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้ศิษย์ด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงคุณธรรมที่ครูจะต้องมี จึงพระราชทานพระบรมราโชวาท เพื่อให้ครูทุกคนยึดมั่นในคุณธรรมควบคู่ไปกับความสามารถด้วย 

“…สำหรับครูนั้น ก็ต้องทำตัวให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพเป็นที่เชื่อใจของนักเรียนเหมือนกัน ข้อแรก ต้องฝึกฝนตนเองให้แตกฉานและแม่นยำชำนาญ ทั้งในวิชาความรู้และวิธีสอน เพื่อสามารถสอนวิชาทั้งปวงได้อย่างถูกต้อง กระจ่างชัด และครบถ้วนสมบูรณ์ อีกข้อหนึ่ง ต้องทำตัวให้ดีคือต้องมีและแสดงความเมตตากรุณาความซื่อสัตย์ สุจริต ความสุภาพ ความเข้มแข็งและอดทนให้ปรากฏชัดเจนเคยชินเป็นปกติวิสัย นักเรียนจะได้เห็นได้เข้าใจในคุณค่าของความรู้ ในความดีและในตัวครูเองอย่างซาบซึ้งและยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง ภารกิจของครู คือการให้การศึกษาก็จะได้บรรลุตามที่มุ่งหวัง...
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

            สุรศักดิ์ สีลูกวัด
www.facebook.com/ZaaraaD/

อ้างอิง
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2554). แนวพระราชดำริด้านการศึกษา ๙ รัชกาล. กรุงเทพฯ:  เอส.ซี.พรินท์แอนด์แพค.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีของแบนดูรา (Bandura) และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม

Transfer of Training การถ่ายโอนการเรียนรู้

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก (Kohlberg)