การจัดการกับระบบการศึกษาพิเศษเป็นอย่างไร


การศึกษาเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน การจัดการศึกษาให้ได้ผลดีนั้น ต้องอาศัยครูเป็นกำลังสำคัญ ดังนั้น ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนในทุกๆ ด้าน วิชาชีพครูหรือ วิชาชีพทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 และพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 จึงควรเป็นวิชาชีพของคนดี คนเก่งในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูเป็นอาชีพที่สังคมมีความหวังที่จะเป็นต้นแบบทางคุณธรรมจริยธรรม ยึดหลักธรรมในการครองตน และประพฤติปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ การดำรงชีวิตของครูสามารถชี้นำสังคมไปในทางที่เหมาะสม ดังนั้น ครูจึงต้องฝึกฝนตนเองให้มีความชำนาญทั้งในวิชาความรู้และวิธีสอน ต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นที่รักและเคารพของทุกคน มีความเมตตากรุณา ซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน และเสียสละ เด็กจะได้เห็นและเข้าใจในคุณค่าความดี และยึดถือเป็นแบบอย่าง ส่งผลให้ภารกิจของครู คือการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ บรรลุตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, 2554, หน้า 1)

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 มาตรา 6 ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มาตรา 23 ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ มาตรา 24 วรรคสี่ ระบุว่า การจัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2552, หน้า 3-8) นอกจากนี้มาตรา 27 ระบุว่าว่า สาระของหลักสูตรทั้งที่เป็นวิชาการ และวิชาชีพ ต้องมุ่งพัฒนาคนให้มีความสมดุล ทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคม (เสาวนี เรวัตโต, 2547, หน้า 1) และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ยังกล่าวถึง สิทธิคนพิการในเรื่อง ส่งเสริมความเสมอภาค การละเว้นการเลือกปฏิบัติ ระบุความคุ้มครอง การช่วยเหลือ และการให้สิทธิคนพิการ คนทุพพลภาพ และคนด้อยโอกาส เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมพัฒนาตนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้น หนึ่งในหน้าที่ของครูในการจัดการศึกษา ต้องเน้นความรู้และคุณธรรมให้เหมาะสมกับความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคล ดั่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัสทางสถานีโทรทัศน์ CNN ตอนหนึ่งว่า

“...การให้การศึกษาแก่คนพิการเพื่อให้ทำงานและช่วยเหลือตนเองได้ จะทำให้เขาเหล่านั้นเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าและช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ... (มหาวิทยาลัยรังสิต, 2553, หน้า 90)

ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้วิถีชีวิตของคนไทยในสังคมเปลี่ยนไป การดำรงชีวิตต้องมีการแข่งขัน เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ขาดจริยธรรมซึ่งเป็นผลกระทบต่อความคิด ค่านิยมที่อยู่ดั้งเดิม เมื่อใดก็ตามเกิดความเสื่อมทางจริยธรรมขึ้นในสังคมก็มีการลงโทษสถานศึกษาซึ่งมีครูทำหน้าที่ให้ความรู้ และอบรมบ่มนิสัยให้นักเรียนมีจริยธรรม คือครูต้องมีพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรมที่มีต่อศิษย์ ต่อตนเอง ต่อวิชาชีพ และต่อสังคม เป็นต้น (พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์, 2542, หน้า 1)

การจัดการศึกษาพิเศษตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กล่าวถึงการจัดการศึกษาของไทยต้องพัฒนาคนทางด้าน ร่างกาย สังคม อารมณ์ และสติปัญญา รวมทั้งให้มีคุณธรรมจริยธรรมควบคู่ไปด้วย รวมถึงเด็กที่ด้อยโอกาสก็มีสิทธิเท่าเทียมกันกับเด็กปกติ กล่าวคือเด็กด้อยโอกาสอยากเรียนต้องได้เรียน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่กล่าวว่า รัฐจะต้องจัดการศึกษาให้กับทุกคน ทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กพิการหรือกลุ่มเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ” ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา มาตรา 10 วรรคสองว่า “การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อการและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ บุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาสต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ” (สุขพัชรา ซิ้มเจริญ, 2545, หน้า 9)



การจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม เป็นการให้บริหารทางการศึกษากับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทต่างๆ ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความสามารถพื้นฐานของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษแต่ละบุคคล ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นพิเศษควบคู่กันไป เพื่อความสามารถในการดำเนินชีวิตในสังคมโดยการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด และการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมในสังคมอย่างเป็นปกติ (ภูฟ้า เสวกพันธ์, 2555, หน้า 14) การเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะเป็นไปได้หรือไม่ และจะประสบผลสำเร็จเพียงใดขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ ตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับปฏิบัติการ โรงเรียนในฐานะผู้ปฏิบัติการเป็นผู้ดำเนินงานในการเรียนร่วม ผู้บริหารและครูผู้สอนจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานดังกล่าว หากผู้บริหารไม่เข้าใจเกี่ยวกับความต้องการพิเศษทางการศึกษาของเด็กและไม่เห็นด้วยกับการจัดการเรียนร่วมแล้ว เป็นการยากที่โครงการเรียนร่วมจะประสบความสำเร็จ (ผดุง อารยะวิญญู, 2542, หน้า 63–64)

สุรศักดิ์ สีลูกวัด
www.facebook.com/ZaaraaD/

อ้างอิง 
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (2554). คู่มือการดำเนินงานตามโครงการเสริมเสริม คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2552). พระราชบัญญัติการศึกษาชาติ พ.ศ. 2552. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.
                  เสาวนี เรวัตโต. (2547). การศึกษาปัญหาและการปลูกฝังคุณธรรมของครูให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษา สำนักงานเขตธนบุรี สังกัดกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
                 มหาวิทยาลัยรังสิต. (2553). เทพรัตนวัฒนาส่องสว่างการศึกษา. กรุงเทพฯ: คิงคองแบงคอก.
                 พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์. (2542). จริยธรรมของอาจารย์และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายกรุงเพมหานคร. รายงานการวิจัย ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
                 สุขพัชรา ซิ้มเจริญ. (2545). การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาสำหรับเด็กที่มีความบกพร่อง. กรุงเทพฯ: ประสานมิตร.
                 ภูฟ้า เสวกพันธ์. (2555). การจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมทฤษฎีและแนวปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
                 ผดุง อารยะวิญญู. (2542). การเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษกรุงเทพฯ: แว่นแก้ว.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีของแบนดูรา (Bandura) และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม

Transfer of Training การถ่ายโอนการเรียนรู้

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก (Kohlberg)