การรับผิดชอบต่อสังคม (CSR: Corporate Social Responsibility) ในแบบที่เข้าใจง่ายๆ




การรับผิดชอบต่อสังคม (CSR: Corporate Social Responsibility)

ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร คือ การดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี โดยรับผิดชอบสังคมและสิ่งเเวดล้อมทั้งในระดับไกลและใกล้อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน คือกำไร และต้องการความมั่นคง ความก้าวหน้าหรือการเจริญเติบโต การที่ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้นไม่ใช่อยู่ที่ผลประโยชน์หรือกำไรขององค์กรเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงการคืนกำไรในสิ่งที่ดีงามสู่สังคมควบคู่ไปด้วย ในปัจจุบันการดำเนินธุรกิจจึงต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม มาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างให้องค์กรอยู่รอดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

เมื่อกล่าวถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR: Corporate Social Responsibility)  หลายคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจอาจคุ้นเคย แต่คนภายนอกอาจจะยังไม่เคยได้ยิน ซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคม หมายถึง การดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนและสังคมโดยรวม  ภายใต้หลักจริยธรรม การกำกับดูแลที่ดี เพื่อนำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน  ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น องค์กรจะต้องตอบสนองต่อประเด็นด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งที่การให้ประโยชน์กับคน ชุมชน และสังคม  นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงบทบาทขององค์กรภาคธุรกิจที่ต้องปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมโดยจะต้องทำด้วยความสมัครใจ และผู้บริหารรวมถึงบุคลากรทุกคนในองค์กรจะต้องมีบทบาทเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ที่ตอบแทนในสิ่งที่ดีงามสู่สังคมอย่างจริงจัง
ในการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม  ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น องค์กรจะต้องมีการวางแผนที่ดี มีการปฏิบัติอย่างเต็มที่ และสม่ำเสมอ ปรับความไม่รู้ให้เป็นความรู้ จากความรู้ให้เป็นความเข้าใจ จากความเข้าใจให้เป็นการตระหนัก จากการตระหนักให้เป็นสำนึกรับผิดชอบ จากสำนึกรับผิดชอบให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ จากธรรมเนียมปฏิบัติให้เป็นระเบียบ จากระเบียบให้เป็นวัฒนธรรมอันดีงามขององค์กรในที่สุด




ผู้บริหารนอกจากจะต้องเป็นผู้วางแผน และเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างเต็มที่แล้ว ยังต้องสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมที่ยั่งยืน
ในการสร้างและปลูกฝังพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับบุคลากรในองค์กร เช่น ปลูกฝังคุณลักษณะกัลยาณมิตรให้แก่บุคลากร ซึ่งจะช่วยในการสร้างความสามัคคีของคนในองค์กร และสร้างมิตรที่ดีกับคนภายนอก  ให้พนักงานมีโอกาสทำโครงการจิตอาสาที่มีความริเริ่มและสร้างสรรค์ เพื่อเป็นประโยชน์กับบริษัทต่อไป ดังโครงการ "Ford Global Week of Caring"   ที่ฟอร์ดทั่วโลกจะออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างพร้อมเพรียง ทำให้พนักงานมีโอกาสเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคมในกิจกรรม "ฟอร์ดอาสาสร้างแคมป์เฮาส์ ส่งเสริมการศึกษาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งเกาะมันใน" ทำให้รู้สึกว่าการได้มีส่วนร่วม ทำให้ได้เห็นประโยชน์จริงๆ ในกิจกรรมเพื่อสังคมที่บริษัทดำเนินการ และการมาเห็นปัญหาและการมีส่วนร่วมจะทำให้กิจกรรมเพื่อสังคมนั้นประสบความสำเร็จมากกว่าการรับรู้ หรือการบริจาคเงินเพียงอย่างเดียว และเป็นเป้าหมายที่ "ฟอร์ด" พยายามจะสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยส่งเสริมให้พนักงานออกไปเป็นอาสาสมัคร เพื่อช่วยเหลือชุมชนรอบๆ โรงงาน และเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถลาหยุดไปทำงานอาสาสมัคร 2 วันโดยไม่คิดเป็นวันลา

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสอดแทรกค่านิยมเหล่านี้ให้แก่บุคลากรในทุกๆกระบวนการ ของการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การคัดเลือกพนักงาน ตลอดจนการถ่ายทอดทางสังคมในการทำงานทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีความสำคัญมากในการสร้างความรู้ความเข้าใจการทำงานของบุคลากร เพื่อให้บุคลากรในองค์กรใช้เป็นฐานเบื้องต้นในการทำงานและเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงาน องค์กรจึงควรเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากรอย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากข้อมูลในเรื่องต่างเพื่อให้บุคลากรสามารถศึกษาด้วยตนเอง รวมถึงการจัดฝึกอบรม สัมมนา หรือจัดประชุม มีงานวิจัยที่พบว่า พนักงานที่ได้รับการถ่ายทอดทางสังคมในการทำงานแบบเป็นทางการมีแนวโน้มของพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อการทำงานสูงด้วย (มยุรฉัตร สุขดำรงค์. 2547)




นอกจากนี้การสร้างคุณลักษณะทางจิตของบุคลากรที่ดีให้แก่องค์กร เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานอย่างมีความรับผิดชอบของพนักงาน (พนิดา ธนวัฒนากุล.2547) พบว่า   เจตคติที่ดีต่อการทำงาน   การรับรู้ความสามารถของตน เหตุผลเชิงจริยธรรม แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการทํางานบริการอย่างมีความรับผิดชอบของพนักงาน ดังนั้นบริษัทที่ต้องการพนักงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจึงควรมุ่งส่งเสริมและพัฒนาจิตลักษณะดังกล่าวแก่บุคลากรอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของทุกองค์กรจะต้องปฏิบัติด้วยความจริงใจ ไม่ทำกิจกรรมเพียงเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรหรือกิจกรรมที่พนักงานขององค์กรไม่ได้มีส่วนร่วมเลย หรือทำด้วยความไม่เต็มใจ แต่ต้องเป็นการร่วมกันดำเนินการโดยมีเป้าหมายร่วมกันเป็นกิจกรรมที่น้อมนำองค์กร และสมาชิกในองค์กร เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคม เกิดความใกล้ชิด ความร่วมมือกันในกิจกรรมของชุมชนและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นการพัฒนาที่รากฐานของสังคม
จาก CSR สู่ ISR 

ISR: Individual Social Responsibility คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนบุคคล เมื่อพนักงานในองค์กรมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม เป็นพนักงานสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นมืออาชีพพร้อมหัวใจอาสา ไม่รับผิดชอบเพียงผลงานเฉพาะตน แต่มีใจยื่นมือช่วยเหลือสังคมด้วยความบริสุทธิ์ ไม่หวังผลตอบแทนอื่นใด นอกจากดอกไม้แห่งความอิ่มเอมที่เบิกบานอยู่ในใจ จึงส่งผลให้เกิด Sustainable Social Responsibility (SSR) คือ ขยายผลต่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว องค์กรธุรกิจ หน่วยงาน NGO สถาบันการศึกษา และรัฐบาลมีความตระหนักและปฏิบัติต่อสังคมด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบ จนกระทั่งกลายเป็น Change Agent ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสังคม(ดนัย จันทร์เจ้าฉาย.2552)

ความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของ CSR จากปี 2552 สู่ปัจจุบัน รวมถึงการวางตำแหน่ง (Repositioning) ขององค์กร เพื่อสร้างสมให้เกิดเป็นคุณค่าอย่างแท้จริงในระยะยาว เพื่อให้เราได้ทำทั้งธุรกิจและดูแลสังคมควบคู่กันไปได้อย่างไม่หลงทาง ประการแรก ธุรกิจจะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นเรื่อง Green Concept มากขึ้น ดังนั้น Green marketing Green Services จะอยู่ในกระแสต่อไป       ประการที่สอง ความคาดหวังในบทบาทของรัฐต่อเรื่อง CSR จะสูงขึ้น ประการที่สาม การปรับจุดยืนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมสู่จุดปกติใหม่ (New Concept) จะเกิดขึ้น สำหรับธุรกิจที่ไม่ต้องการลดทอนคุณค่า CSR ขององค์กรในระยะยาว ประการที่สี่ มาตรฐาน ISO จะเริ่มลงหลักปักฐานในองค์กรธุรกิจโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ประการที่ห้า ประเด็นทาง CSR จะถูกหยิบยกมาเป็นมาตรการทางการค้าเพิ่มขึ้น ด้วยอัตราเร่งจากการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ ประการที่หก เรื่อง CSR จะแผ่ขยายลงไปสู่สถานศึกษาในระดับโรงเรียนเป็นครั้งแรก หลังจากการตอบรับในระดับอุดมศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีองค์กรมากมายที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนโยบายและปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน รวมทั้งมีพนักงานองค์กร ข้าราชการ ประชาชน และเยาวชน แนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจและกระตุ้นให้ทุกคนลุกขึ้นมาสร้างตัวเองใหม่ และทำความดีโดยเนื้อแท้ คือคำว่า ISR ย่อมาจาก Individual Social Responsibility เป็นหนึ่งใน 7 หลักการของกลยุทธ์น่านน้ำสีขาว ที่มุ่งเน้นให้คนแต่ละคนในองค์กร ในครอบครัว และในสังคม ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสังคม ฝังรากลึกลงไปในจิตวิญญาณ ในดีเอ็นเอ อะตอม โมเลกุล และชีวิตจิตใจ ให้ทำตัวเองเป็น Change Agent หน่วยขยายผลการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ตัวบุคคลเป็นทูตแห่งความดี Brand Ambassador ที่มีพลังในการระเบิดจากข้างใน โดยไม่รอให้ผู้อื่นเปลี่ยนก่อน หรือองค์กรเปลี่ยนก่อน การวัดระดับ ISR หรือพลังแห่งการปลดปล่อยศักยภาพในตนเอง มีอยู่ด้วยกัน 5 ระดับได้แก่ ระดับล่างสุด รอรับคำสั่ง (Order Taker) ระดับสอง เริ่มตั้งคำถามต่อหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน ระดับสาม (ดีขึ้นมาหน่อย) ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน ระดับสี่ (ดี) มีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง เดินมาหาหัวหน้าเพื่อบอกว่าตั้งใจจะทำอะไร และระดับที่ห้า (ดีมาก) ลงมือปฏิบัติและรายงานผลให้ทราบเป็นระยะๆ หัวหน้าที่มีลูกน้องอยู่ในระดับล่างสุด จะทำงานหนักหน่อย เพราะต้องสวมบทบาทเป็นนักพากย์คอยบอกบทตลอด และพนักงานกลุ่มนี้จะเป็นตัวถ่วงองค์กรด้วยข้ออ้างสารพัด และใช้แต่สมองซีกซ้าย รอโปรแกรมป้อนเข้าสมอง แต่หากองค์กรใดมีพนักงานที่มี ISR ระดับบนสุด เปรียบเสมือนเป็นองค์กรที่ติดเทอร์โบ เพราะหัวหน้างานมีหน้าที่ในการพยักหน้า และบอกทีมงานว่า ‘เยี่ยม’ ลุยเลย เก่งมาก เดินหน้าได้..!  พนักงานกลุ่มนี้จะใช้สมองซีกขวา รู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควร ไม่ต้องมีใครมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช ลองประเมินกันเอาเองว่า พนักงานของเรามีหัวใจอาสา หรือ ISR อยู่ในระดับใด





ผู้เขียนกล่าวโดยสรุปว่า CSR คือการทำประโยชน์เพื่อสังคม ในทางธุรกิจกล่าวคือการคืนกำไรให้กับสังคมในรูปแบบต่างๆ ที่บริษัทคือองค์กรนั้นๆมีนโยบายเพื่อให้พนักงานหรือลูกค้าได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมต่างๆอะไรก็แล้วแต่ที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ให้แก่สังคม โดยมิได้หวังผลตอบแทน แต่ในบางกรณีองค์กรอาจใช้เครื่องมือทางการตลาด เช่น การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรเท่านั้น ในทางปฏิบัติทาง CSR จริงๆ องค์กรควรไม่หวังผลทางการประชาสัมพันธ์ แต่ควรมุ่งหวังไปที่สิ่งที่สังคมจะได้รับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และควรติดตามผลของการทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ทำให้ การทำประโยชน์เพื่อสังคมจึงจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับ ISR เมื่อบุคคลถูกปลูกฝั่งเรื่อง CSR มากๆบ่อยๆ ย่อมเกิด ISR เกิดขึ้นในจิตใจและการกระทำเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยผู้มี ISR ในหัวใจนั้นจะไม่รู้ตัวเลยว่าตนได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับโลกนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว

สุรศักดิ์ สีลูกวัด
https://www.facebook.com/ZaaraaD

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีของแบนดูรา (Bandura) และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม

Transfer of Training การถ่ายโอนการเรียนรู้

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก (Kohlberg)